ท่าทางที่เหมาะสม / ไม่เหมาะสม
สาเหตุหลักของการปวดเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดสะบัก หรือปวดหลัง ส่วนใหญ่มักเกิดมาจาก "ท่าทางที่ไม่เหมาะสม" ซึ่งท่าที่ไม่เหมาะสม คือท่าทางที่ทำให้ตำแหน่งของร่างกาย ไม่อยู่ในแนวตรง หรือแนวปกติในขณะที่กำลังทำกิจกรรม ซึ่งจะส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพและใช้แรงเพิ่มมากขึ้น และสิ่งนี้ก็จะก่อให้เกิดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ กดทับหรือขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เส้นประสาท ส่่งผลให้เกิดเป็นอาการปวด อาการชา หรือในบางรายมีอาการอ่อนแรงเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ท่าทางที่ไม่เหมาะสมยังส่งผลต่อบุคลิกภาพ และความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย เช่น หากมีการอยู่ในท่าก้มคอ ห่อไหล่ ก็จะทำให้มีบุคลิกที่ดูไม่มั่นใจ ไม่น่าเชื่อถือ หรือในระยะยาวอาจทำให้หลังค่อมได้
ซึ่งปัญหาดังกล่าว สามารถแก้ไขและป้องกันได้ โดยการปรับท่าทางให้เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ในระหว่างทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง เพิ่มความทนทาน และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้งานในลักษณะต่าง ๆ
หลักการยศาสตร์
หลักการยศาสตร์ (Ergonomics) หมายถึง ศาสตร์แห่งการทำงาน หรือ กฎของงาน เป็นวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กันระหว่างงาน บุคคลากรหรือผู้ปฏิบัติงาน และสถานที่ทำงานหรือสภาพแวดล้อม เพื่อออกแบบให้ลักษณะของการทำงานมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อสุขภาพ หรือส่งผลให้เกิดความอันตรายจากการปฏิบัติงาน การเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ อยู่ในท่าทางของร่างกายที่ไม่ถูกต้อง และอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น นั่งหลังค่อม นั่งคอยื่น ยักไหล่ ยกแขนสูงในการพิมพ์เอกสาร หรือการใช้เม้าส์ ร่วมกับการวางตำแหน่งของงานที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ต้องเอื้อมมือไปหยิบจับ การยกตัว หรือการบิดตัวบ่อยครั้ง ก็จะทำให้เกิดความปวดจากการทำงานได้ การจัดสภาพแวดล้อมการทำงาน และการจัดท่าทางในการทำงานหรือทำกิจกรรมให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ จึงมีความสำคัญในการทำงานมาก เพราะหากสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บได้
ท่าทางการทำกิจกรรมที่ถูกต้อง
1. การใช้โทรศัพท์
คนส่วนใหญ่มักเล่นโทรศัพท์มือถือในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น หลังค่อม ก้มคอ จับโทรศัพท์มือถือในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับสายตา เมื่อเล่นต่อเนื่องกันไปนาน ๆ ก็จะส่งผลต่อกระดูกสันหลังส่วนคอ และกล้ามเนื้อคอบ่าที่อยู่รอบ ๆ ได้
ท่าที่ถูกต้อง
-
แนะนำไม่ควรก้มดูโทรศัทพ์มือถือเกิน 10-15 องศา เพราะยิ่งก้มหน้ามาก น้ำหนักที่กระทำต่อกระดูสันหลังช่วงคอก็ยิ่งมีมากขึ้น
-
พยายามนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง
-
งอแขนหรือศอกขึ้นมาให้โทรศัพท์อยู่ในระดับสายตาที่สามารถมองเห็นได้อย่างสะดวก
-
ให้ศอกหรือแขนวางบนโต๊ะ หรือมีหมอนรองอยู่ด้านล่าง ก็จะช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อแขนได้
-
หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์ด้วยมือข้างเดียว เนื่องจากจะส่งผลต่อข้อมือและข้อนิ้วโป้ง
2. การยกของ
การยกของ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากยกของในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ยืนตัวตรงแล้วก้มหลังลงไปยกของทันที อาจจะส่งผลให้มีอาการปวดหลังได้ เนื่องจากบริเวณหลังมีกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หมอนรองกระดูกสันหลัง และเส้นประสาท หากยกในท่าที่ผิด อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้
ท่าที่ถูกต้อง
-
ควรยืนใกล้สิ่งของที่ต้องการยก
-
วางเท้าข้างใดข้างหนึ่งข้างสิ่งของ ส่วนอีกข้างวางไว้หลังตัวเองเล็กน้อยเพื่อรักษาสมดุล
-
ย่อขาลง ลำตัวและหลังตรง
-
ใช้มือจับของที่ต้องการยก พยายามดึงให้ของอยู่ใกล้ลำตัวมากที่สุด
-
หลังจากนั้นออกแรงต้นขาในการยันตัวยกของขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อหลังที่มากเกินไป
3. การนั่งเก้าอี้
การนั่งเก้าอี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่บางคนอาจนั่งเก้าอี้ในท่าที่กำลังทำร้ายร่างกายตนเองอยู่ เช่น การนั่งไขว่ห้าง การนั่งลักษณะนี้จะทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งทำงานไม่สมดุลกัน หรือการนั่งเอนตัว ไถลตัวมากเกินไป การนั่งแบบนี้จะทำให้มีการเพิ่มแรงกดทับที่กระดูกสันหลังได้ หากสามารถนั่งเก้าอี้ด้วยท่าทางที่ถูกต้อง และเลือกเก้าอี้ได้อย่างเหมาะสม ก็จะลดการบาดเจ็บหรืออาการปวดที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
ท่าที่ถูกต้อง
-
ควรนั่งเต็มก้นชิดพนักพิงเก้าอี้
-
ศีรษะตั้งตรง คอไม่ยืดไปด้านหน้า และนั่งหลังตรง
-
แขนและมือวางระนาบไปกับที่พักแขนหรือโต๊ะ
-
เท้าวางขนานกับพื้น
-
เข่าทำมุม 90-100 องศา
-
เลือกเก้าอี้ให้เหมาะสม หรือเลือกเก้าอี้ที่สามารถปรับได้เพื่อให้เข้ากับสรีระของตนเอง
4. การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์
การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม ไม่ว่าจะเป็นการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก หรือปวดหลัง ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปวดนี้มักมาจากท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย หรือไม่เหมาะสม
ท่าที่ถูกต้อง
-
นั่งหลังตรง ศีรษะและคอตรง ไม่ก้มหรือเงย หรือคอยื่นไปด้านหน้า
-
โต๊ะไม่สูงหรือต่ำเกินไป เพื่อให้ตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาได้
-
เก้าอี้ที่นั่งควรมีพนักพิง เพื่อที่จะได้นั่งได้เต็มก้น หลังตรง พิงพนักได้
-
แขนวางระดับเดียวกันกับโต๊ะหรือแป้นพิมพ์ ไหล่ต้องไม่ยก เก้าอี้ควรมีที่วางแขน
-
สะโพกและข้อเข่าควรตั้งฉาก 90 องศา เท้าวางบนพื้น
-
แนะนำเลือกเก้าอี้ให้เหมาะสม หรือเลือกเก้าอี้ที่สามารถปรับได้เพื่อให้เข้ากับสรีระของตนเอง




