นิ้วล็อค (Trigger finger)
อาการนิ้วล็อค เป็นปัญหายอดฮิตของวัยทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือในการพิมพ์งาน และใช้นิ้วในการคลิกเม้าส์ ซึ่งการใช้งานเป็นระยะเวลานาน และเกิดการใช้งานซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดการบาดเจ็บและอักเสบตามมา และอาการเจ็บมักจะอยู่บริเวณโคนนิ้ว
นิ้วล็อก หรือ Trigger finger เกิดจากโครงสร้างเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อ Flexor groups ที่เกาะไปที่นิ้วมือแต่ละนิ้ว โดยเส้นเอ็นจะมีปลอกหุ้ม ทำให้เส้นเอ็นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถ้าเกิดการใช้งานของนิ้วมือที่มาก นาน ๆ และซ้ำ ๆ จนเกิดการอักเสบ จะทำให้มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ เนื่องจากขณะใช้งานของนิ้วมือ เส้นเอ็นมีการขยับและเสียดสีกับปลอกหุ้นเอ็น จนทำให้เกิดการอักเสบและเจ็บตามมา ถ้ามีการอักเสบนาน ๆ ซ้ำ ๆ อาจทำให้ปลอกหุ้มเอ็นเกิดการหนาตัว หรือเกิดปุ่มก้อนของเส้นเอ็นบริเวณโคนนิ้ว ทำให้การงอและเหยียบนิ้วเกิดการสะดุด และอาการงอนิ้วได้แต่ไม่สามารถเหยียบนิ้วเองได้
อาการและอาการแสดง
การแบ่งอาการและระยะของโรคนิ้วล็อกออกเป็น 4 ระยะ
-
มีการอักเสบและมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว
-
มีอาการสะดุด ขณะกำมือและเหยียดนิ้วมือ แต่สามารถเหยียดเองได้
-
กำมือแล้วเกิดอาการล็อก ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้เอง ต้องใช้อีกมือช่วยง้างออก
-
ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
-
อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป จะพบคนที่เป็นโรคนิ้วล็อกได้บ่อย เนื่องจากอาจจะมีความเสื่อมของข้อเข้ามาเกี่ยวข้อง
-
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์
-
อาชีพที่ต้องใช้งานของมือและนิ้วที่เยอะ และลักษณะงานที่ต้องจับหรือกำอะไรแน่น
- แม่บ้าน ต้องใช้ไม้กวาด ถูพื้น และใช้มือเช็ดทำความสะอาด
- พ่อครัวหรือแม่ครัว ลักษณะต้องจับกระทะและใช้ตะหลิวในการทำอาหารเยอะและนาน
- พนักงานออฟฟิศ ใช้งานคอมพิวเตอร์พิมพ์งาน ใช้มือคลิกเม้าส์ที่เยอะ และมีการใช้งานเป็นระยะเวลานาน
- กลุ่มคนที่ต้องใช้งานมือถือเป็นเวลานาน ๆ และเล่นเกมส์เป็นเวลานาน ๆ
การรักษาทางกายภาพบำบัด
จะเป็นการใช้เครื่องมือทางกายภาพในการลดอาการปวด ลดอาการอับเสบบริเวณโคนนิ้ว ร่วมกับการนวด ยืด กล้ามเนื้อ และขยับเคลื่อนข้อต่อ
-
การประคบอุ่นบริเวณโคนนิ้วและกล้ามเนื้อแขน
-
การใช้เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High power laser) เพื่อช่วยลดอาการปวด และอาการอักเสบ ช่วยกระตุ้นการซ่อมสร้างของเนื้อเยื่อบริเวณโคนนิ้ว
-
การใช้เครื่องช็อคเวฟ (Shockwave therapy) กระตุ้นให้เกิดกระบวณการซ่อมสร้างของเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ในกรณีที่มีอาการปวดเรื้อรัง
-
การนวด ยืด ขยับเคลื่อนข้อต่อ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่นของปลอกหุ้มเส้นเอ็น
การป้องโรคนิ้วล็อก
-
พยายามเหยียดกล้ามเนื้อแขน และนิ้วมือทุกวัน ก่อนและหลังทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
-
พยายามหยุดพักการใช้งานนิ้วมือ ทุก ๆ 1 ชั่วโมง
-
ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและแขนเป็นประจำ
-
พยายามหลีกเลี่ยงที่ต้องถือของที่หนักเป็นเวลานาน ๆ

