ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder)
ข้อไหล่ติด เป็นอีกหนึ่งภาวะที่ส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเอื้อมหยิบจับสิ่งของที่อยู่สูง หวีผม สระผม ได้ลำบาก ส่งผลให้ไม่ค่อยอยากจะใช้งานของแขนและข้อไหล่มากเกินไป เนื่องจากมีการใช้งานที่ลำบากและมีอาการปวดเข้ามารบกวน ยิ่งจะทำให้ข้อไหล่ติดแข็งมากขึ้น
ข้อไหล่ติดคืออะไร?
ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) หรือชื่อเรียกทางการแพทย์ Adhesive capsulitis เกิดจากข้อไหล่ (Shoulder joint) มีอาการอักเสบของเอ็นและปลอกหุ้มข้อไหล่ (Capsule) เกิดการหนาตัวและหดสั้น ทำให้มีอาการเจ็บหรือปวด ส่งผลให้ยกแขนได้ไม่สุด องศาการเคลื่อนไหวจะค่อย ๆ ลดลง ทั้งการ
เคลื่อนไหวเอง (Active movement) และการเคลื่อนไหวที่คนอื่นทำให้ (Passive movement) โดยมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักพบในช่วงอายุ 40 - 65 ปี
ระยะของข้อไหล่ติด
แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
-
ระยะอาการปวด (Pain phase) - ในระยะนี้จะมีอาการปวดมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน จนอาจรบกวนการนอน และองศาการเคลื่อนไหวเริ่มลดลง อยู่ในช่วง 2 - 9 เดือน
-
ระยะข้อติด (Adhesive phase) - ในระยะนี้จะมีอาการปวดลดน้อยลงกว่าช่วงแรก และองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะลดลงในทุกทิศทางอย่างชัดเจน ส่งผลต่อการใช้งานของแขนและไหล่ในชีวิตประจำวัน ระยะนี้จะนาน 4-12 เดือน
-
ระยะฟื้นตัว (Resolution phase) ในระยะนี้การยึดรั้งของข้อไหล่จะลดลง และองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม ระยะนี้จะอยู่ในช่วง 1 - 4 ปี
อาการและอาการแสดง
-
มีอาการปวดบริเวณข้อไหล่หรือต้นแขน ไม่สามารถนอนทับแขนข้างที่มีอาการได้
-
มีอาการปวดขณะยกแขนขึ้น และยกแขนได้ไม่สุด
-
มีอาการปวดขณะกางแขน และกางแขนได้ไม่สุด
-
กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่มีความตึงตัว และเกิดการยึดรั้งข้อไหล่
-
กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่มีจุดกดเจ็บ
-
มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่และมีอาการปวด ส่งผลให้เกิดการรบกวนการทำงาน หรือการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เอื้อมมือหยิบของที่อยู่สูงไม่ได้ หวีผมไม่ได้ สระผมไม่ได้ อาบน้ำถูหลัง หรือถูสบู่บริเวณหลังไม่ได้ เป็นต้น
สาเหตุ
แบ่งออกเป็น 2 แบบ
-
ปฐมภูมิ (Primary) - ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
-
ทุติยภูมิ (Secondary) - สาเหตุที่เกี่ยวข้องและส่งผลให้เกิดข้อไหล่ติด
-
สาเหตุที่เกิดจากข้อไหล่มีการอักเสบ มีอาการบาดเจ็บ หรือมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อสะบัก (Rotator cuff tears)
-
สาเหตุจากภายนอกที่ส่งผลต่อการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ เช่น ผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านม กระดูกแขนหัก หรือกระดูกไหปลาร้าหักใส่เฝือก
-
สาเหตุที่มาจากโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต
การรักษาทางกายภาพบำบัด
-
การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการอักเสบและอาการปวด
-
การขยับและเคลื่อนไหวข้อต่อ เพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่
-
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่

