ภาวะสมองเสื่อม (Demantia)
ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะที่สมองทำงานได้ลดลงหรือไม่มีประสิทธิภาพ จากการที่เซลล์สมองมีการเสื่อมลงตามอายุ มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป โดยทั่วไปมักจะมีอาการหลงลืม มีปัญหาในการพูด การคิด ความจำ อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย และอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้ด้วย
ประเภทของภาวะสมองเสื่อม
-
สมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ (Azheimer’s disease) เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ มักจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะมีปัญหาในเรื่องของความคิด ความจำ การพูด หลงลืม ไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ ลืมทางกลับบ้าน โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
-
สมองเสื่อมชนิดพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นภาวะที่สมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ และมีการหลั่งสารสื่อประสาทได้ลดลง
-
สมองเสื่อมชนิดสมองขาดเลือด (Vascular disease) เป็นภาวะที่สมองไม่สามารถทำงานได้ปกติ จากการขาดเลือดไปเลี้ยงในสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ความรู้ ความเข้าใจ
-
สมองเสื่อมจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม การได้รับสารเคมีที่ไม่เหมาะสม การติดเชื้อ เป็นต้น
อาการ
อาการเริ่มแรก มักจะมีอาการหลงลืมระดับเล็กน้อย หรือลืมเหตุการณ์ใหม่ ๆ ที่พึ่งเกิดขึ้น เช่น นึกคำพูดไม่ออก สับสนวันที่และเวลา หลงทิศทาง วางของแล้วลืม เป็นต้น ซึ่งหากอาการเริ่มรุนแรงขึ้น อาการหลงลืมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน สิ่งใดที่เคยทำได้อาจทำได้ลดลง หรือไม่สามารถทำได้ การตัดสินใจแย่ลง และมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ บุคลิกภาพ และพฤติกรรม ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับระดับทักษะ ความรู้ ความสามารถเดิมด้วย
การวินิจฉัย
-
จากการตรวจร่างกาย ซักประวัติ และพูดคุย กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
-
ทำแบบทดสอบประเมินระดับปัญญาและระบบประสาท
-
วินิจฉัยผ่านภาพถ่ายสมอง เช่น CT scan, MRI เป็นต้น
การรักษา
-
รักษาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น หลอดเลือดสมอง เนื้องอก เป็นต้น
-
รักษาโดยการใช้ยา เพื่อประคับประคอง และชะลอการเสื่อมของสมอง
-
รักษาพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากตัวโรค เช่น อาการก้าวร้าว อาการซึมเศร้า เป็นต้น
การป้องกัน
-
ฝึกฝนใช้สมองเป็นประจำ เช่น การคิดเลขง่าย ๆ การอ่านและเขียนหนังสือ เป็นต้น
-
ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์
-
พบปะ พูดคุย เข้าสังคมอยู่สม่ำเสมอ
-
ฝึกทำสมาธิ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด
-
หลีกเลี่ยง หรือลดการใช้ยา หรือสารเคมี ที่มีผลข้างเคียงต่อสมอง
-
หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี สม่ำเสมอ

