ภาวะเอ็นข้อศอกอักเสบ
ภาวะเอ็นข้อศอกอักเสบ (Epicondylitis) คือ ภาวะที่มีอาการอักเสบหรือบาดเจ็บที่เอ็นด้านข้างของข้อศอก เกิดได้ทั้งข้อศอกทางด้านในและด้านนอก มักเกิดจากการใช้งานแขนและข้อมือในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
ประเภทของเอ็นข้อศอกอักเสบ
-
เอ็นข้อศอกทางด้านในอักเสบ (Golfer’s elbow)
-
เอ็นข้อศอกทางด้านนอกอักเสบ (Tennis elbow)
สาเหตุของอาการบาดเจ็บทั้งสองแบบ เกิดได้ในลักษณะเดียวกัน แต่จำแนกความแตกต่างกันจากจุดที่มีปัญหา ที่ด้านนอก หรือด้านในของข้อศอกนั่นเอง
อาการ
-
เจ็บที่ข้อศอกด้านใน (Golfer’s elbow) หรือด้านนอก (Tennis elbow)
-
เจ็บขณะมีการกระดกข้อมือขึ้น หรือลง
-
เจ็บขณะมีการกำมือ หรือถือของหนัก
-
มีอาการอ่อนแรงที่แขนหรือมือ หรือไม่สามารถใช้งานได้ดีเหมือนก่อนมีอาการ
-
กล้ามเนื้อปลายแขนตึงตัว
-
มีจุดกดเจ็บบริเวณปลายแขนด้านใน หรือด้านนอก
ปัจจัยเสี่ยง
-
ผู้ที่มีการใช้งานข้อมือ หรือแขน ในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ เช่น นักเรียน พนักงานออฟฟิศ แม่ค้า แม่บ้าน ช่างทาสี เป็นต้น
-
นักกีฬากอล์ฟ นักกีฬาเทนนิส หรือกีฬาที่มีการจับไม้ และใช้แรงเหวี่ยงแขน
-
ผู้ที่มีการถือของหนัก
การป้องกันและการรักษา
1. ลดการใช้งาน - ในช่วงแรกหากมีอาการบาดเจ็บมาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ควรพักและประคบเย็นบริเวณที่มีการบาดเจ็บ เพื่อลดการอักเสบ หากอาการปวดดีขึ้น หรืออาการอักเสบลดลง ควรใช้การประคบอุ่น และยืดกล้ามเนื้อปลายแขน เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่มีความตึงตัว
2. กายภาพบำบัด - เพื่อพิจารณาใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดในการช่วยลดอาการอักเสบ เร่งกระบวนการฟื้นฟู หรือใช้เครื่องมือกระตุ้นการคลายกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดโดยนักกายภาพบำบัด
3. ยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ - ก่อนและหลังการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลานาน
ท่ายืดกล้ามเนื้อปลายแขน
-
กล้ามเนื้อกระดกข้อมือขึ้น อยู่ด้านนอกข้อศอก (Tennis elbow) - เริ่มจากเหยียดแขนตรงไปทางด้านหน้า จากนั้นกระดกข้อมือลง ปลายนิ้วชี้ลงพื้น และใช้มืออีกข้างออกแรงช่วยยืด ให้รู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อแขนทางด้านนอก ค้างไว้ 15-30 วินาที และทำซ้ำ 3 ครั้ง
-
กล้ามเนื้องอข้อมือลง อยู่ด้านในข้อศอก (Golfer's elbow) - เริ่มจากเหยียดแขนตรงไปทางด้านหน้า จากนั้นกระดกข้อมือขึ้น ปลายนิ้วชี้ขึ้น และใช้มืออีก ข้างออกแรงช่วยยืด ให้รู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อแขนทางด้านใน ค้างไว้ 15-30 วินาที และทำซ้ำ 3 ครั้ง


