จุดกดเจ็บบนกล้ามเนื้อ (Trigger Point)
จุดกดเจ็บ (Trigger point) เป็นชื่อเรียก ตำแหน่งของปมกล้ามเนื้อ ในมัดกล้ามเนื้อที่มีการหดเกร็งตัวมาก จากการใช้งาน จะมีลักษณะคลำได้เป็นก้อนแข็ง อยู่ภายในมัดกล้ามเนื้อ และเป็นจุดที่หากมีการกระตุ้น หรือตรวจด้วยการกด จะมีอาการเจ็บ และร้าวไปยังบริเวณใกล้เคียง
บริเวณที่ไม่ได้เป็นปัญหาแต่มีอาการปวด ชา หรือร้าวร่วมด้วย เรียกว่า ตำแหน่งร้าวจากปมกล้ามเนื้อ (Referred pain) ซึ่งเกิดได้ในทุกมัดกล้ามเนื้อ
โดยเฉพาะมัดกล้ามเนื้อที่มีการใช้งานหนัก ใช้งานซ้ำๆ หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ซึ่งแต่ละมัดกล้ามเนื้อก็จะมีตำแหน่งร้าวที่ชัดเจน และแตกต่างกันออกไป
สาเหตุของการเกิดปมกล้ามเนื้อ หรือจุดกดเจ็บ (Trigger point)
เกิดมาจากมัดกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานหนักกว่าที่กล้ามเนื้อจะรับได้ จึงก่อให้เกิดการหดเกร็งตัวคงค้างขึ้น และเมื่อมีการใช้งานต่อเนื่อง ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน หลายเดือนหรือหลายปี โดยไม่ได้รับการรักษา หรือการดูแลตนเองที่เหมาะสม จะเกิดการไหลเวียนเลือดที่ลดลงที่มัดกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดการขดตัวเป็นปมกล้ามเนื้อ เมื่อมีปมกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ก็จะมีการขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เส้นประสาทเพิ่มมากขึ้นตามมา ส่งผลให้เกิดเป็นอาการปวด ชา ร้าวเกิดขึ้นตามมา
ประเภทของปมกล้ามเนื้อ หรือจุดกดเจ็บ (Trigger point)
-
Latent trigger point คือ ปมกล้ามเนื้อ ชนิดที่ต้องมีการกดหรือการกระตุ้นจึงจะมีอาการปวด และร้าวขึ้นมาชัดเจน
-
Active trigger point คือ ปมกล้ามเนื้อ ชนิดที่มีอาการปวดและมีตำแหน่งร้าวชัดเจน โดยไม่ต้องมีการกดหรือกระตุ้น
ลักษณะงานที่ก่อให้เกิดปมกล้ามเนื้อ หรือจุดกดเจ็บ (Trigger point)
-
ลักษณะงานที่ต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องแลป เป็นต้น
-
ลักษณะงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ เช่น นักกีฬา แม่บ้าน เชฟ พนักงานขับรถ เป็นต้น
-
ลักษณะงานที่ต้องใช้แรงมาก เช่น กรรมกร พนักงานขนย้าย เป็นต้น
วิธีการป้องกันและรักษาปมกล้ามเนื้อและจุดกดเจ็บ (Trigger point)
-
ยืดกล้ามเนื้อ เป็นวิธีง่ายที่สุด ใช้เวลาน้อย สามารถเริ่มทำได้เลย และมีประโยชน์ค่อนข้างมาก ในการเพิ่มความยืดหยุ่น และการไหลเวียนของเลือด
-
ออกกำลังกาย เมื่อกล้ามเนื้อเรามีความแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งานหนัก จะทำให้เกิดการหดตัวที่เหมาะสม แทนที่จะเป็นการหดเกร็งตัว จนเกิดเป็นปมกล้ามเนื้อ
-
การใช้ความอุ่น การใช้อุณหภูมิสูง (ความร้อน) เช่น การประคบอุ่น การแช่น้ำอุ่น การอาบน้ำอุ่น จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด และเพิ่มความผ่อนคลายให้กล้ามเนื้อได้
-
กายภาพบำบัด โดยการใช้เครื่องมื่อและหัตถการต่างๆ เพื่อคลายปมกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด
-
การฝังเข็ม จะเป็นการใช้เข็มเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการคลายปมของตัวกล้ามเนื้อโดยตรง
-
การนวด เป็นอีกหนึ่งในการรักษาที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายได้
