รองช้ำ (Plantar fasciitis)
โรครองช้ำ (Plantar fasciitis) หรือโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบของพังผืดบริเวณฝ่าเท้า ส้นเท้า ไปจนถึงเอ็นร้อยหวาย (Achilles tendon) ที่เป็นเอ็นของกล้ามเนื้อน่อง (Gastrocnemius) ซึ่งพังผืดใต้ฝ่าเท้านี้จะช่วยกระจายน้ำหนักไปยังฝ่าเท้าอย่างเหมาะสมในขณะยืน เดิน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ หากเมื่อมีการใช้งานซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการเสียดสี หรือรับน้ำหนักมาก ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบ และทำให้มีอาการรองช้ำ ปวดบริเวณใต้ฝ่าเท้า หรืออาจมีความรู้สึกเหมือนมีเข็มมาทิ่มตลอดเวลาได้ มักพบในผู้ที่ต้องทำกิจกรรมยืนหรือเดินเยอะ ๆ ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมเป็นประจำ เช่น รองเท้าส้นสูง เป็นต้น
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง
โรครองช้ำ เกิดจากการกระแทกของฝ่าเท้าและอุ้งเท้า ขณะที่มีการลงน้ำหนักบริเวณฝ่าเท้า ทั้งจากการยืน/เดิน ทำให้เกิดเป็นพังผืด หรือมีอาการอักเสบบริเวณฝ่าเท้าเกิดขึ้น ก่อให้เกิดอาการปวด ซึ่งมีมักมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
-
การยืน เดิน หรือวิ่ง มากเกินไป – ทำให้มีน้ำหนักลงที่บริเวณเท้าเยอะ เกิดความตึงตัวของกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งส่งผลต่อความตึงตัวของพังผืดบริเวณฝ่าเท้า ทำให้เกิดอาการปวด หรือเกิดเป็นโรครองช้ำได้
-
ลักษณะรองเท้าไม่เหมาะสม – การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมในการยืนเดิน เช่น รองเท้าพื้นแข็ง หรือรองเท้าส้นสูง เมื่อรองเท้าไม่รับกับอุ้งเท้า ที่ต้องยืนหรือเดินทั้งวัน ก็จะก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณฝ่าเท้าได้
-
น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ - เนื่องจากหากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะส่งผลให้มีน้ำหนักกดทับบริเวณฝ่าเท้ามากขึ้น
-
โครงสร้างเท้าผิดปกติ - ไม่ว่าจะเป็นอุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าสูงโก่งผิดปกติ หรือมีภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า ก็ส่งผลให้เกิดโรครองช้ำได้เช่นกัน
-
กล้ามเนื้อน่องมีความตึงตัว - เมื่อกล้ามเนื้อน่องมีความตึงตัวมากเกินไป จะส่งผลให้เอ็นร้อยหวายที่เกาะอยู่ที่บริเวณส้นเท้า เกิดความตึงตัวตามไปด้วย หากไม่มีอาการเพิ่มความยืนหยุ่น ก็จะนำไปสู่อาการปวดได้
-
การออกกำลังกายบางประเภท - เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค หรือทำกิจกรรมที่ทำให้มีแรงกระเทกที่ฝ่าเท้าเยอะ ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการรองช้ำได้
อาการของโรครองช้ำ
-
มีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า - โดยจะมีอาการปวดตามแถบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า หากเป็นในระยะแรก อาจมีอาการหลังออกกำลังกาย ยืน หรือเดินนาน ๆ แต่หากมีอาการมากขึ้น อาจะรู้สึกปวดตลอดเวลา
-
เจ็บแปล๊บที่ส้นเท้า หรือฝ่าเท้า – บางรายอาจมีความเจ็บเกิดขึ้นระหว่างวัน แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้า
-
เจ็บส้นเท้าเมื่อลงน้ำหนักก้าวแรก - หลังตื่นนอน จะมีอาการปวดส้นเท้าเกิดขึ้นใน 2-3 ก้าวแรก หลังจากนั้นอาการอาจเบาลงเมื่อมีการใช้งานไปสักพัก
-
ปวดเหมือนโดยของแหลมทิ่ม – ในบางคนที่มีอาการรองช้ำ อาจรู้สึกปวดเหมือนโดนของปลายแหลมทิ่มขึ้นมาที่บริเวณฝ่าเท้าได้
-
ตึงน่องและเอ็นร้อยหวาย – จากการใช้งาน ลงน้ำหนักที่ส้นเท้าซ้ำ ๆ กล้ามเนื้อน่องมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความตึงตัวขึ้นได้
การดูแลรักษาโรครองช้ำ
-
พักการใช้งาน – การลดการยืน เดิน หรือวิ่งต่อเนื่อง จะช่วยให้อาการปวดดีขึ้น ร่วมกับการใช้ประคบเย็น (ในระยะที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน) ประคบไปที่บริเวณส้นเท้าประมาน 20 นาที หรือใช้ประคบร้อน/แช่น้ำอุ่น (หากมีอาการมานานและไม่มีอาการอักเสบ) 15-20 นาที เพื่อลดอาการปวด
-
เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม – โดยเลือกให้พอดีกับเท้า ไม่รัดแน่นเกินไป สวมใส่สบายเพื่อลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้จากการใช้งาน ร่วมกับการใช้แผ่นรองเท้าเพื่อให้รับกับอุ้งเท้าของตนเอง ก็จะช่วยบรรเทาอาการรองช้ำได้
-
ยืดกล้ามเนื้อและพังผืดฝ่าเท้า
-
ยืดกล้ามเนื้อน่อง : นั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืด ใช้ผ้าคล้องปลายเท้า จากนั้นดึงปลายผ้าเข้าหาตัวเพื่อให้เท้ากระดกขึ้น จะรู้สึกตึงที่น่องร่วมกับฝ่าเท้า ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
-
ยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า : นั่งไขว้ห้าง ฝ่าเท้าข้างที่ต้องการจะยืดอยู่ด้านบน ใช้มือค่อย ๆ ดึงปลายเท้าหรือนิ้วเท้าให้กระดกขึ้น จะรู้สึกตึงบริเวณฝ่าเท้า ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง โดยสามารถใช้หัวแม่มืออีกข้างช่วยนวดคลึงเบา ๆ ใต้พังผืดฝ่าเท้าได้
-
การนวดคลึงฝ่าเท้า : นั่งบนเก้าอี้ ข้างที่ต้องการจะนวดคลึงให้เหยียบลูกเทนนิสไว้ แล้ววนปลายเท้าให้ลูกเทนนิสคลึงไปรอบ ๆ ฝ่าเท้า ประมาน 30 วินาที
4. ทำกายภาพบำบัด - การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดปวด ลดอาการอักเสบของเอ็นฝ่าเท้า ไม่ว่าจะเป็นคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound therapy) เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High power laser) หรือคลื่นกระแทก (shock wave) โดยมีการใช้เครื่องมือร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกาย เพื่อรักษาอาการรองช้ำ




