หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
(Herniated Nucleus Pulposus)
ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus Pulposus) คือภาวะหมอนรองกระดูก ที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อไม่อยู่ในแนวเดิม มีการปูด บวม หรือ แตกออกมาทับ หรือระคายเคืองเส้นประสาทที่ออกมาจากช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง โดยอาจเกิดได้ทั้งระดับคอ และระดับเอว แต่ส่วนมากจะพบที่ระดับเอวเป็นส่วนใหญ่
สาเหตุ
-
ส่วนมากเกิดจากการรับแรงกระทำจากภายนอกที่มากเกินไป เช่น การยกของหนัก การอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน การบิดเอี้ยวตัวอย่างรุนแรง การถูกแรงปะทะอย่างรุนแรง หรือแม้แต่ความดันในช่องท้องที่มากเกินไป
-
มักพบในผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 25-45 ปี เนื่องจากตัวหมอนรองกระดูกยังสามารถยืดหยุ่นได้ดี และมีของเหลวภายในอยู่มาก แต่เมื่อมีแรงมากระทำเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดการแตกได้ง่าย
-
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หมอนรองกระดูกจะเริ่มมีความเสื่อม ทำให้ไม่สามารถรองรับแรงจากภายนอกได้ดีเท่าที่ควร จึงทำให้หมอนรองกระดูกมีการแตกออก หรือปูดออกจากแนวปกติ ออกไปกดทับ และระคายเคืองรากประสาทที่ออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของรางกาย
อาการ
-
ปวดหลังส่วนล่าง ร้าวลงขาข้างเดียว หรือสองข้าง หรือปวดคอร้าวลงแขน
-
ปวดแปล๊บขณะก้มตัว ก้มคอ หรือบิดเอี้ยวตัว
-
ปวดแปล๊บขณะไอ จาม หรือกลั้นเบ่ง
-
ชาที่ขา บางรายอาจลงไปถึงปลายเท้า หรือชาลงแขน ไปถึงปลายนิ้ว
-
บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงที่ขาหรือแขนร่วมด้วย
ปัจจัยเสี่ยง
-
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25-45 ปี ที่มีกิจกรรมเยอะ
-
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป
-
การยกของหนักเกินไป
-
การบิดหมุน เอี้ยวตัว ก้ม แอ่นลำตัว ที่เร็ว หรือมากเกินไป
-
นักกีฬาที่มีการปะทะ กระโดดเป็นประจำ
-
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ
-
ผู้ที่อยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม หรือทำกิจกรรมในท่าทางที่ไม่เหมาะสม
วิธีการดูแลรักษา
-
กายภาพบำบัด - เพื่อหวังผลช่วยในการลดอาการปวด อาการชา และอาการอักเสบ ที่บริเวณรากประสาทที่ถูกรบกวนจากหมอนรองกระดูกสันหลัง
-
ออกกำลังกาย - โดยเฉพาะกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เพื่อหวังผลให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมีความแข็งแรง ช่วยในการพยุงแนวกระดูกสันหลังให้มั่นคง พร้อมรับกิจกรรมที่มีความหนัก หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ที่มีความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
-
การผ่าตัด - เพื่อนำตัวหมอนรองกระดูกที่แตก ระคายเคือง หรือกดทับเส้นประสาทออก
การออกกำลังกายเพื่อลดอาการปวดหลังจากภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
1. ท่าที่ 1 - เริ่มต้นนอนคว่ำลำตัวผ่อนคลาย หรือมีหมอนรองใต้ท้อง นอนท่านี้ประมาณ 5-10 นาที จนไม่มีอาการปวด ทำ 2 ครั้งต่อวัน
2. ท่าที่ 2 - เริ่มจากท่านอนคว่ำ ตั้งศอกทั้ง 2 ข้างไว้ด้านหน้า แล้วค่อย ๆ ออกแรงดันศอกขึ้น (ไม่ใช้แรงจากหลัง) ค้างไว้ 3-5 วินาที แล้วเอาศอกลง ถ้าไม่มีอาการปวด ให้ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 รอบ
3. ท่าที่ 3 - เริ่มจากท่านอนคว่ำตั้งศอก ค่อย ๆ ใช้แขนดันตัวขึ้นให้ศอกเหยียดตรง (ไม่ใช้แรงจากหลัง) โดยไม่ให้สะโพกพ้นพื้น ค้างไว้ 5 วินาที แล้วกลับสู่ท่าเริ่มเต้น ทำ 10 ครั้งต่อรอบ ทำทั้งหมด 3 รอบ




