top of page

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

               อาการปวดยอดฮิตที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานคืออาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ หรือกลุ่มคนที่ต้องทำงานท่าเดิมประจำ เช่น พนักงานสายผลิต พนักงานที่มีหน้าที่ยกของ ลากของ หรืองานที่มีพฤติกรรมการทำงานซ้ำ ๆ ต้องอยู่ในท่าเดิม ๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือหลัง ได้ หากไม่ได้ดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อาการปวดนี้จะกลายเป็นความปวดเรื้อรังได้

               

               ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เยื่อพังผืด และเส้นเอ็น มักเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทาง โดยมีปัจจัยของสถานที่ทำงาน อุปกรณ์การทำงานที่ส่งผลไปถึงท่าทางในการนั่ง การยืน ที่ไม่เหมาะสม เช่นนั่งไขว่ห้าง นั่งไหล่ห่อ มีการยักไหล่ คอยื่น ทำให้มีการหดเกร็งหรือยืดค้างของกล้ามเนื้อในรูปแบบเดิม จนก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือกล้ามเนื้อทำงานซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นกล้ามเนื้อแข็ง เกร็ง มีปมกล้ามเนื้อ กดเจ็บ ก่อให้มีอาการปวดเกิดขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาการของออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก หรือหลัง เมื่อต้องทำงานในท่าเดิมนาน ๆ

  2. ปวดร้าวไปที่บริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย เช่น ปวดบ่าร้าวขึ้นศีรษะ ปวดสะบักร้าวลงแขน มักเป็นอาการปวดแบบล้า ๆ

  3. ปวดหลัง จากท่านั่งที่ไม่เหมาะสม และต้องนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือปวดจากงานที่ต้องยืนต่อเนื่องนาน ๆ ได้เช่นกัน

  4. ปวดข้อมือ นิ้วล็อก มือชา จากการพิมพ์เอกสาร จากการใช้เม้าส์ในท่าเดิม หรือจากการใช้มือทำงานใดงานหนึ่งต่อเนื่องกันนาน ๆ ส่งผลให้มีการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ หรือมีพังผืดไปกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดเกิดขึ้นได้

  5. ปวดหัวเรื้อรัง สามารถปวดได้ทั้งหนึ่งหรือสองข้าง โดยเกิดจากการใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือบางรายอาจเป็นอาการปวดร้าวมาจากกล้ามเนื้อต้นคอ หรือกล้ามเนื้อบ่า

การดูแลรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

  1. การเปลี่ยนท่าทางขณะทำงาน - ในการทำงานแต่ละวัน ควรมีการเปลี่ยนท่าทางทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งมากเกินไป เช่นการลุกขึ้นเดินหากต้องนั่งเป็นประจำ หรือมีการยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น
     

  2. การปรับอุปกรณ์ในการทำงาน – โดยมีการเลือกเก้าอี้ให้เหมาะสมในการทำงาน เลือกเก้าอี้ที่มีพนักแขน พนักพิงมีความโค้งเข้ากับหลัง หรือหาหมอนมารองหลัง คีย์บอร์ดและเม้าส์อยู่ในระดับที่ไม่ต้องยักไหล่เพื่อใช้งาน ร่วมกับวางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
     

  3. การยืดกล้ามเนื้อและออกกำลังกาย 

  • ยืดกล้ามเนื้อต้นคอทางด้านหลัง : เริ่มจากประสานมือทั้งสองข้าง วางไว้ด้านหลังศีรษะ จากนั้นก้มศีรษะลงจนรู้สึกตึงบริเวณต้นคอทางด้านหลัง ออกแรงที่มือช่วยกดศีรษะลง จนกระทั่งรู้สึกตึงแต่ไม่มีอาการเจ็บ ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยศีรษะกลับสู่ท่าทางปกติ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

  • ยืดกล้ามเนื้อคอบ่า : นั่งตัวตรง นำแขนข้างเดียวกับกล้ามเนื้อต้นคอที่ต้องการยืดไขว้ไปทางด้านหลัง เอียงคอร่วมกับหันศีรษะไปฝั่งตรงข้าม ใช้มือข้างเดียวกับที่หันหน้าไปจับบริเวณกลางศีรษะและออกแรงดึงศีรษะไปด้านข้าง จนรู้สึกตึงบริเวณคอบ่า แต่ไม่มีอาการเจ็บ ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยศีรษะกลับสู่ท่าทางปกติ และสลับทำอีกข้าง ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

  • ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นแขน : นั่งตัวตรง ยกแขนข้างที่ต้องการจะยืดขึ้น พับศอกลงมาทางด้านหลังศีรษะ มือแตะไหล่ฝั่งตรงข้าม ใช้มืออีกข้างจับบริเวณข้อศอก และออกแรงดึงไปฝั่งตรงข้ามกับข้างที่ต้องการจะยืด จะรู้สึกตึงบริเวณต้นแขนแต่ไม่มีอาการเจ็บ ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยแขนสู่ท่าทางปกติ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

  • ท่ายืดกล้ามเนื้อปลายแขน : เริ่มจากขกแขนข้างที่ต้องการยืดไปด้านหน้า กระดกข้อมือขึ้น และใช้มืออีกข้างออกแรงช่วยกระดกข้อมือขึ้น จนรู้สึกตึงบริเวณแขนท่อนล่างแต่ไม่มีอาการเจ็บ ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยแขนสู่ท่าทางปกติ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง สลับทำอีกฝั่งของแขนโดยการกระดกข้อมือลง และสลับทำทั้ง 2 ข้าง

  • ท่ายืดกล้ามเนื้อสะบัก : ยืดแขน 2 ข้างไปทางด้านหน้า โดยให้นิ้วโป้งชี้ลงพื้น จากนั้นนำมือมาประสานกัน และยืดแขนออกไปทางด้านหน้าให้รู้สึกที่บริเวณสะบัก ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จากนั้นค่อย ๆ กลับสู่ท่าปกติ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

  • ท่ายืดกล้ามเนื้อหน้าอก : นั่งตัวตรง ไม่ก้มคอ ประสานมือทั้ง 2 ข้างวางไว้ที่ท้ายทอย จากนั้นผายข้อไหล่ออก ร่วมกับแอ่นอกเล้กน้อย จะรู้สึกตึงสบายบริเวณหน้าอก ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จากนั้นค่อย ๆ กลับสู่ท่าปกติ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

  • การออกกำลังกายลดอาการคอยื่น : นั่งตัวตรง ไม่ก้มคอ จากนั้นเก็บคางชิดอก ทำค้างไว้ 10 วินาที แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 3-5 รอบ และควรทำอย่างสม่ำเสมอระหว่างวัน และทุกวัน


 

 

 

 

 



 

4. การทำกายภาพบำบัด - การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดอาการปวด คลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการซ่อมสร้างการบาดเจ็บของเส้นเอ็น โดยนักกายภาพบำบัดจะตรวจประเมินเพื่อหาสาเหตุของอาการปวด หลังจากนั้นจะมีการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound therapy) เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulation) เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High power laser) หรือคลื่นกระแทก (shockwave therapy) ร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย เพื่อช่วยฟื้นฟูอาการปวดจากภาวะออฟฟิศซินโดรม

5. การฝังเข็ม - ด้วยศาสตร์การฝังเข็มแบบตะวันตก (Dry needling) จะช่วยในการคลายปมกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง และยังสามารถเพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณรักษาได้ จึงหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ปมกล้ามเนื้อชัดเจน อาการปวดร้าวไปที่อื่น หรืออาการปวดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
 

IMG_6632.JPEG
IMG_6625.JPEG

Location

 513 Rama 9 Soi 13, Rama 9 Road

Bang Kapi Subdistrict, Huai Khwang District, Bangkok 10310

Contact phone number

  • Facebook
  • Line
  • Instagram

Opening hours

Monday-Sunday

9:00 a.m. - 8:00 p.m.

©2023 by Pace Wellness Clinic. Proudly created with Wix.com

bottom of page